อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ตั้งอยู่ในท้องที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองตาก และอำเภอแม่สอด ติดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 (ตาก–แม่สอด) ห่างจากตัวอำเภอเมืองตากประมาณ 35 กิโลเมตร ซึ่งประกาศทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ละเมา ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 954 (พ.ศ.2524) และประกาศทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท้อ–ห้วยตากฝั่งขวา ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมือง จังหวัดตาก ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 145 (พ.ศ.2509) มีพื้นที่ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาจำนวน 93,125 ไร่ แต่มีพื้นที่จริงจากการคำนวนเท่ากับ 163,750 ไร่
ประวัติความเป็นมา : อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช เดิมมีชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่” เนื่องจากมีต้นกระบากที่ใหญ่สุดในประเทศไทยเท่าที่สำรวจพบในขณะนี้ โดยมีนายสวาท ณ น่าน ช่างอันดับ 2 สถานีโทรคมนาคม จังหวัดตาก ซึ่งได้รับการบอกเล่าจากชาวเขาเผ่ามูเซอ ว่ามีต้นไม้ขนาดใหญ่ประมาณสิบคนโอบอยู่ต้นหนึ่ง และมีสะพานหินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อได้ไปสำรวจพบเห็นว่าเป็นสภาพธรรม ชาติที่สวยงามควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ จึงได้ทำหนังสือถึงกองอุทยานแห่งชาติ จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2519 และวันที่ 6 มกราคม 2520 รายงานถึงลักษณะทางธรรมชาติซึ่งมีความโดดเด่น ได้แก่ ต้นกระบากใหญ่ สะพานหินธรรมชาติ น้ำตกห้วยหอย น้ำตกแม่ย่าป้า มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี และมีสัตว์ป่าที่ชุกชุม
ทางกองอุทยานแห่งชาติจึงได้มีคำสั่งให้ นายสมยศ สุขะพิบูลย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลานสางในขณะนั้น ออกไปตรวจสอบพบเห็นว่าเป็นจริงดังคำบอกเล่า มีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้ และไปดำเนินการสำรวจเพื่อกำหนดพื้นที่ป่าห้วยแม่ละเมา–ห้วยยะอุ ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท้อ–ห้วยตากฝั่งขวา ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ นำเสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 210 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2524 กำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็น “อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่” นับเป็นอุทยานแห่งชาติอันดับที่ 40 ของประเทศไทย
ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ พิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติแด่องค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นสิริมงคลแก่อุทยานแห่งชาติ ตลอดจนเพื่อเป็นการรำลึกถึงสถานที่อันมีค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ได้แก่ จังหวัดตาก เห็นสมควรเปลี่ยนชื่อ “อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่” เป็น “อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช” กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อใช้พระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นชื่ออุทยานแห่งชาติ และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2529 ให้ใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช”
นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทางลักษณะภูมิประเทศแล้ว อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชยังมีเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์อีกด้วย กล่าวคือ ในสมัยโบราณพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นเส้นทางการเดินทัพของขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด (อำเภอแม่สอดในปัจจุบัน) เพื่อบุกเข้าตีเมืองตากซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของไทยในขณะนั้น นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางเดินทัพของพม่า โดยพระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่า คราวยกทัพกลับจากการล้อมกรุงศรีอยุธยาขณะเสด็จกลับระหว่างทางทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ในป่าแห่งนี้
ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน มีพื้นที่ราบอยู่เพียงเล็กน้อย บริเวณที่ทำการอุทยานฯ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,000 เมตร มีแนวเทือกเขาถนนธงชัยผ่านกลางอุทยานฯ ลักษณะเป็นสันปันน้ำซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอเมืองตากกับอำเภอแม่สอด เป็นต้นกำเนิดของห้วยสำคัญๆ เช่น ทางด้านอำเภอแม่สอด ได้แก่ ห้วยตะปูเคาะ ห้วยยะอุ ห้วยปลาหลด ห้วยพลูใหญ่ ห้วยผักหละ ห้วยพระเจ้า ห้วยปูแป้ ห้วยผาแกว และห้วยสะมึนหลวง ไหลไปรวมกันเป็นห้วยแม่ละเมา ทางด้านอำเภอเมืองตากมีจำนวน 7 ห้วย ได้แก่ ห้วยปางอ้า ห้วยสลักพระ ห้วยน้ำดิบ ห้วยบง ห้วยช้างไล่ ห้วยโปร่งสัก และห้วยไม้ห้าง ซึ่งไหลลงมารวมเป็นห้วยแม่ท้อ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปิง
อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช มีสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี มีอุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเชลเชียล อุณหภูมิสูงสุด 36.2 องศาเชลเชียล อุณหภูมิต่ำ 7.5 องศาเชลเชียล มีฝนตกชุกในเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 15.23 มม./ปี ช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม สามารถพบเห็นทะเลหมอกตลอดแนวเขาทั่วไปในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
สภาพป่าประกอบไปด้วย ป่าดงดิบ ส่วนใหญ่อยู่บริเวณต้นกระบากใหญ่ และสะพานหินธรรมชาติ มีพันธุ์ไม้หลักที่สำคัญคือ ก่อ ยาง กระบาก มะหาด ยมหอม อบเชย กฤษณา มณฑา เป็นต้น ป่าดิบเขา อยู่บริเวณใกล้สันปันน้ำ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญคือ ก่อ ยาง แดงน้ำ และไม้เนื้ออ่อนชนิดต่างๆ ป่าเต็งรัง และ ป่าเบญจพรรณ จะมีอยู่ทั่วไป มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญคือ เต็ง รัง เหียง สัก พลวง ตะแบก ประดู่ มะค่าโมง มะค่าแต้ ยมหิน แดง เก็ดแดง ฯลฯ และไม้ไผ่ชนิดต่างๆ
สำหรับสัตว์ป่าที่สำรวจพบมีหลายชนิด อาทิเช่น เก้ง กวางป่า เลียงผา หมี ลิง ค่าง หมูป่า ชะนี กระต่าย งู กระรอก ผีเสื้อ ไก่ป่า เสือไฟ เสือลายเมฆ และนกชนิดต่างๆ ฯลฯ