การเพาะเมล็ดหวาย  โดยการเร่งการงอก

1.  เก็บเมล็ดหวาย  เป็นการเก็บเมล็ดหวายเพื่อเพาะ หรือเพื่อเก็บรักษาเมล็ดหวาย โดยมีขั้นตอน  ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1  เก็บผลหวายที่แก่เต็มที่ โดยสังเกตจาก   สีของเปลือกจะมีสีเหลืองอ่อน ๆ ส่วนผลที่มีสีเขียวให้คัดทิ้ง  ควรเก็บผลหวายเพาะช่วงเดือน กุมภาพันธ์ –เมษายน  ซึ่งเมล็ดหวายจะแก่เต็มที่และเมล็ดหวาย      ที่จะเก็บรักษา จะไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับเชื้อรา     มีเปอร์เซ็นต์การงอกสูง 

ขั้นตอนที่ 2  นำผลหวายที่แก่เต็มที่มายีหรือปั่นในเครื่องปั่นทำความสะอาดผลหวาย  ขั้นตอนนี้ให้ใช้น้ำเปล่าไหลผ่านตลอดเวลา ทำซ้ำประมาณ 2 – 3 ครั้งให้สังเกตว่าเปลือกและเนื้อหวายออกจากเมล็ดหวายหมดแล้ว

ขั้นตอนที่ 3  เมื่อเสร็จจากขั้นตอนที่ 2 แล้ว ให้ทำซ้ำขั้นตอนที่ 2 อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ให้นำผงซักฟอกใส่เข้าไปด้วย แล้วล้างน้ำเปล่าให้สะอาดอีกครั้ง

ขั้นตอนที่ 4  เมื่อได้เมล็ดหวายที่สะอาดแล้วให้เลือกเมล็ดสีดำ สีขาว และเมล็ดที่ถูกแมลงกัดหรือไม่สมบูรณ์ออกทิ้งเสีย(*อย่าเสียดายเมล็ดเพราะเมื่อนำไปเพาะจะทำให้เกิดเชื้อราขึ้นได้*)

ขั้นตอนที่ 5  นำเมล็ดหวายที่ได้มาผึ่งลมไว้ในที่ร่ม      1 คืน ก็จะสามารถนำเมล็ดหวายนั้นไปเพาะ
ได้เลย      แต่ถ้าต้องการจะเก็บรักษาเมล็ดไว้ควรผึ่งลมไว้ในที่ร่มประมาณ  6 – 7 วัน  แล้วเก็บใส่ถุงพลาสติกใส       
มัดปากถุงให้แน่น นำแช่ไว้ในตู้เย็น (ช่องธรรมดา)

 

2.  การนึ่งขุยมะพร้าว   การนึ่งขุยมะพร้าวเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อรา โดยมีขั้นตอน  ดังนี้

   

ขั้นตอนที่ 1  นำขุยมะพร้าวไปแช่น้ำให้ชุ่มแล้วบีบน้ำออกให้แห้งหมาด ๆ

ขั้นตอนที่ 2  นำไปนึ่งประมาณ 10 – 15 นาที แล้วทิ้งให้เย็น (จะสามารถเก็บไว้ใช้ได้ประมาณ  2  วัน)

 

3.  การแคะตาหวายเพื่อเพาะ  เป็นการเร่งการงอกของหวาย  โดยมีขั้นตอนดังนี้

 

ขั้นตอนที่ 1 นำขุยมะพร้าวที่นึ่งแล้ว ตามข้อ 2 ประมาณ 200  กรัม  ใส่ลงในถุงพลาสติกแบบมีหูหิ้ว เพื่อเตรียมไว้สำหรับคลุกกับเมล็ดหวายที่จะทำการแคะตา  
               
ขั้นตอนที่ 2  นำเมล็ดหวายที่สะอาดที่ได้จากข้อ  1จำนวน  700  กรัม   มาแช่น้ำประมาณ  3  ชั่วโมง  แล้วนำเมล็ดหวายที่แช่น้ำมาแคะตาหวาย  ซึ่งตาหวาย  จะอยู่บริเวณด้านข้าง ๆ ของเมล็ดหวาย  โดยใช้มีด   คัตเตอร์แคะ  ควรระมัดระวังอย่าให้โดนเนื้อเยื่อเจริญของหวาย  เมื่อแคะตาหวายแล้ว  ให้นำเมล็ดหวายนั้นใส่คลุกเคล้าในขุยมะพร้าวที่เตรียมไว้ในขั้นตอนที่ 1   (*ห้ามนำกลับไปแช่น้ำอีกเด็ดขาด  เพราะจะทำให้    เกิดเชื้อราและงอกช้า*)  แคะตาหวายจนกว่าจะครบ     700 กรัม  แล้วมัดปากถุงให้แน่น  เพื่อกันไม่ให้ขุยมะพร้าวและเมล็ดหวายที่แคะตาแล้วแห้ง

ขั้นตอนที่ 3  นำเมล็ดหวายแคะตาซึ่งได้จากขั้นตอนที่ 2  ไปหมักหรืออบในโอ่งที่ตั้งตากแดดไว้  โดยให้โอ่งรับแสงแดด  เฉพาะช่วงเช้าถึงเที่ยง ให้หมักหรืออบโอ่งไว้  ประมาณ 6 – 7 วัน เมล็ดหวายจะงอกออกมามีลักษณะเป็นตุ่ม ๆ

 
 
    ขั้นตอนที่ 4  นำขุยมะพร้าวที่นึ่งได้ตามข้อ 2 ใส่กะละมัง ซึ่งมีขนาดของปากกะละมังกว้าง 15 นิ้ว ให้ใส่โดยเหลือพื้นที่ 1 – 2 นิ้ว จากปากบนของกะละมังแล้วนำเมล็ดหวายที่งอกเป็นตุ่มจากขั้นตอนที่ 3  มาโรยใส่ให้กระจายทั่ว ๆ กะละมังพร้อมกับ เลือกเมล็ดที่มีสีดำ หรือเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ออกทิ้ง แล้วจึงนำ ขุยมะพร้าวที่นึ่งโรยทับบางๆ ประมาณ 1 – 2  เซนติเมตร  จากนั้น จึงฉีดน้ำให้เป็นฝอยพอชุ่ม  แล้วนำถุงพลาสติกใส ขนาด 20 x 30 นิ้ว  หุ้มอีกครั้งมัดปากถุงให้แน่น นำไปไว้ในที่ร่มรำไร หรือใต้แสลน 50 % ทิ้งไว้ประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ หวายจะงอกออกเมื่อกล้าหวายสูงประมาณ 2 – 5 เซนติเมตร แล้วจึงย้ายชำในถุง 2 x  6 นิ้ว ซึ่งจะได้กล้าหวายประมาณ1,500–2,000 กล้า การย้ายชำข้อควรระวังควรอย่าให้เมล็ดหวายที่ติดกับ ต้นกล้าหวาย หลุดออก เพราะหวายยังใช้อาหารจากเมล็ดอยู่  เมื่อย้าย ชำในถุงเพาะชำแล้ว ประมาณ 8 – 12 เดือนก็จะสามารถนำไปปลูกได้ตามต้องการ เพราะกล้าหวายจะมีความแข็งแรงทนต่อโรคและแมลง ตลอดจน สภาพความแห้งแล้งหรือฝนชุกได้ดี  
 
       
 
ส่วนประสานงานโครงการพระราชดำริ ต.ป่ามะม่วง อ.เมือง จ.ตาก 63000
โทร.0-5551-1142 ต่อ 151 แฟกซ์ 0-5551-1142 ต่อ 209
E-Mail : dumri_2008@hotmail.com